วันพุธที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2556

มงคลสูตรคำฉันท์

คำว่า มงคล เป็นคำที่เราได้ยินกันอยู่เสมอ ๆ เช่น ในคำว่าสิริมงคล วัตถุมงคล พิธีมงคลสมรส ฯลฯ แต่นักเยนทราบไหมว่าคำนี้หมายความว่าอะไร พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ อธิบายความหมายของคำว่า มงคล ว่าคือเหตุที่นำมาซึ่งความเจริญ หรือสิ่งซึ่งถือว่าจะนำสิริ และความเจริญมาสู่ และป้องกันไม่ให้สิ่งที่เลวร้ายมากล้ำกราย ตามหลักพระพุทธศาสนา มงคล หมายถึง ธรรมที่นำมาซึ่งความสุขความเจริญมีทั้งสิ้น ๓๘ ประการ

มงคลสูตร

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงอุดมมงคลหรือมงคลอันสูงสุด ๓๘ ประการไว้ในมงคลสูตร ซึ่งเป็นชื่อพระสูตรที่สำคัญบทหนึ่งในพระพุทธศาสนา มงคลสูตรปรากฏอยู่ในพระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย หมวดขุททกปาฐะ พระอานนทเถระได้กล่าวถึงที่มาของมงคลสูตรไว้ในคราวที่มีการสังคายนาพระไตรปิฏกครั้งที่ ๑ ว่า ท่านได้สดับรับฟังมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ่า ณ เชตะวันวิหาร เขตกรุงสาวัตถี มงคลสูตรเกิดขึ้นด้วยอำนาจคำถาม กล่าวคือสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเล่าให้พระอานนท์ฟังว่าเมื่อปฐมยามแห่งราตรีได้มีเทวดาองค์หนึ่งเข้ามาทูลถามพระองค์เรื่องมงคล เทวดาองค์นั้นได้กราบทูลว่า ได้เกิดความโกลาหลขึ้นทั้งในหมู่เทวดา และมนุษย์ที่มีลัทธิ เรื่องมงคลแตกต่างกัน เกิดความขัดแย้งโต้เถียงกันเป็นฝักฝ่ายตกลงกันไม่ได้ ความสับสนวุ่นวายเรื่องลัทธิมงคลนี้ยืดเยื้ออยู่เป็นเวลานานถึง ๑๒ ปี ในที่สุดท้าวสักกเทวราชจึงแต่งตั้งตนให้มาทูลถามพระพุทธองค์จึงตรัสตอบเรื่องมงคล ๓๘ ประการ เมื่อทรงเทศนาจบแล้ว เหล่าเทวดาทั้งหลาย ก็ได้บรรลุธรรม เมื่อราตรีนั้นผ่านพ้นไป พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงเรื่องมงคลนี้แก่พระอานนทเถระซ้ำอีกครั้งหนึ่ง แล้วให้นำไปเผยแผ่ต่อภิกษุทั้งหลาย
มงคล ๓๘ ประการ หรือเรียกเต็มว่า อุดมมงคล (มงคลอันสูงสุด) ๓๘ ประการที่พระพุทธองค์ทรงเทศนามีตามลำดับดังนี้
๑. ไม่คบคนพาล
๒. คบบัณฑิต
๓. บูชาผู้ที่ควรบูชา
๔. อยู่ในถานที่อันสมควร
๕. เป็นผู้ทำบุญไว้ในกาลก่อน (คือได้ทำความดีให้พร้อมไว้ก่อน ทำความดีเตรียมพร้อมไว้แต่ต้น)
๖. ตั้งตนไว้ชอบ
๗. สดับตรับฟังมาก
๘. มีศิลปวิทยา (คือชำนาญในวิชาชีพของตน)
๙. มีระเบียบวินัย
๑๐. กล่าววาจาสุภาษิต (คือรู้จักใช้วาจาพูดให้เป็นผลดี)
๑๑. บำรุงมารดาบิดา
๑๒. สงเคราะห์บุตร
๑๓. สงเคราะห์ภรรยา
๑๔. ทำการงานไม่อากูล
๑๕ ให้ทาน
๑๖. ประพฤติธรรม
๑๗. สงเคราะห์ญาติ
๑๘. ประกอบการงานที่ไม่มีโทษ
๑๙. งดเว้นจากบาป
๒๐. สำรวมจากการดื่มน้ำเมา
๒๑. ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย (คือมีความระมัดระวัง ไม่ละเลยในการประพฤติธรรม
ทั้งหลาย
๒๒. มีความเคารพ (คือการแสดงออกถึงความเป็นผู้รู้จักคุณค่าของบุคคล สิ่งของหรือ
กิจการนั้น ๆ และรู้จักให้ความสำคัญและความใส่ใจเอื้อเฟื้อโดยเหมาะสม)
๒๓. นอบน้อมถ่อมตน
๒๔. มีความสันโดษ (คือมีความเอิบอิ่ม พึงพอใจในผลสำเร็จที่ได้สร้างขึ้นหรือในปัจจัย
ลาภทีแสวงหามาได้ด้วยเรี่ยวแรงความเพียรพยายามของตนเองโดยทางชอบธรรม
๒๕. มีความกตัญญู
๒๖. ฟังธรรมตามกาล (คือหาโอกาสแสวงหาความรู้ในเรื่องที่แสดงหลักความจริง)
๒๗. มีความอดทน
๒๘. เป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย
๒๙. เห็นสมณะ (คือไปเยี่ยมเยือนเข้าพบท่านผู้สงบกิเลส)
๓๐. สนทนาธรรมตามกาล (คือหาโอกาสสนทนาถกเถียงเกี่ยวกับหลักความจริงและหลัก
ความถูกต้องดีงาม)
๓๑. บำเพ็ญตบะ (คือมีความเพียรในการเผากิเลส รู้จักบังคับควบคุมตนไม่ปรนเปรอตน
ตามใจอยาก)
๓๒. ประพฤติพรหมจรรย์ (คือรู้จักควบคุมตนในทางเพศ)
๓๓. เห็นอริยสัจ (คือเข้าใจความจริงของชีวิต)
๓๔. ทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน (คือบรรลุนิพพาน)
๓๕. มีจิตไม่หวั่นไหว (คือจิตไม่หวั่นไหวเมื่อถูกกระทบด้วยโลกธรรมทั้ง ๘ อย่าง อัน
ได้แก่ มีลาภ ไม่มีลาภ มียศ ไม่มียศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์)
๓๖. มีจิตไม่เศร้าโศก (คือจิตไม่เศร้าโศกเมื่อถูกำระทบด้วยโลกธรรมทั้ง ๘ อย่าง)
๓๗. มีจิตปราศจากธุลี (คือจิตปราศจากธุลีเมื่อถูกกระทบด้วยโลกธรรมทั้ง ๘ อย่าง)
๓๘. มีจิตเกษม (คือมีจิตเกษมเมื่อถูกกระทบด้วยโลกธรรมทั้ง ๘ อย่าง

มงคลทั้ง ๓๘ ประการนี้ พระพุทธองค์ทรงแสดงเป็นพระคาถาภาษาบาลีเพียง ๑๐ คาถา แต่ละพระคาถาประกอบด้วยมงคล ๓-๕ ข้อ ตอนท้ายมีคาถาสรุปอีก ๑ คาถา ชี้ให้เห็นว่าเทวดาและมนุษย์ปฏิบัติสิ่งมงคลทั้ง ๓๘ ประการแล้ว จะไม่พ่ายแพ้ข้าศึกทั้งปวง มีแต่ความสุขความเจริญทุกเมื่อ น่าสังเกตว่ามงคลข้อต่างๆ ที่รวมอยู่ในพระคาถาเดียวกันล้วนแสดงแนวคิดที่สัมพัน์และเกี่ยวเนื่องกัน เช่น
พระคาถาที่ ๑ กล่าวถึงมงคลประการที่ ๑ ถึง ๓ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าคนกลุ่มใดคือคนที่เราควรหลีกเลี่ยง ไม่คบหาสมาคม และคนกลุ่มใดที่ควรติดต่อเสวนา ร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ด้วย รวมทั้งผู้ที่เราพึงกราบไหว้เคารพบูชา
พระคาถาที่ ๔ ซึ่งประกอบด้วยมงคลประการที่ ๑๒ ถึง ประการที่ ๑๔ กล่าวถึง การปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลทั้งในฐานะบุตร บิดาหรือมารดา และสามีหรือภรรยา รวมไปถึงการปฏิบัติหน้าที่การงานเพื่อเลี้ยงชีพต้องกระทำในเวลาอันควร และกระทำด้วยความขยันขันแข็งไม่ท้อแท้ย่อหย่อน
พระคาถาที่ ๖ กล่าวถึงมงคลที่ ๑๙ ถึงประการที่ ๒๑ ซึ่งเน้นการงดเว้นจากการทำบาปโดยการล่วงละเมิดศีลทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งงดเว้นจากากรดื่มน้ำเมาซึ่งทำให้ขาดสติเป็นเหตุให้มีความประมาทเกิดขึ้นได้ง่าย เมื่อปฏิบัติมงคลประการที่ ๑๙ และ ๒๐ ได้ ก็จะสามารถปฏิบัติมงคลประการที่ ๒๑ คือการไม่ประมาท มีความระมัดระวัง และไม่ละเลยในการบำเพ็ญธรรมได้
นักเรียนคงเห็นได้ว่ามงคล ๔๘ ประการเรียงจากข้อที่ปฏิบัติง่ายไปสู่ข้อที่ปฏิบัติยากขึ้นตามลำดับ เป็นความดีหรือความเจริญตั้งแต่ขั้นพื้นฐานถึงขั้นสูงสุด มงคลข้อต้น ๆ หากบุคคลทั่วไปนำไปปฏิบัติ ก็จะยังความสุขและความเจริญรุ่งเรืองในการดำรงชีวิต มงคลข้อหลัง ๆ เป็นการปฏิบัติที่จะช่วยยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงขั้นสูงสุดคือหมดกิเลสโดยสิ้นเชิง เป็นเหตุให้บรรลุมรรคผลนิพพาน ไม่มีการอยู่ในวัฏสงสารอีกต่อไป

มงคลสูตรคำฉันท์

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำมงคลสูตรมาทรงพระราชนิพนธ์เป็นบทประพันธ์ร้อยกรองประเภทคำฉันท์ โดยทรงใช้คำประพันธ์เพียง ๒ ชนิด คือ กาพย์ฉบัง ๑๖ และอินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ ในด้านกลวิธีการประพันธ์ พระองค์ได้ทรงนำพระคาถาภาษาบาลีจากพระไตรปิฎกตั้ง แล้วแปลถอดความอย่างค่อนข้างจะตรงตัวออกมาเป็นบทร้อยกรองภาษาไทย การจัดวางลำดับของมงคลแต่ละข้อก็เป็นไปตามที่ปรากฏอยู่ในพระคาถาเดิม ดังตัวอย่าง เช่น ในพระคาถาที่ ๒ ประกอบด้วยมงคลประการที่ ๔-๖ กล่าวถึงการอยู่ในสถานที่อันสมควร การทำบุญไว้ในกาลก่อน และการตั้งตนไว้ชอบ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถอดความมงคลทั้ง ๓ ประการอย่างตรงตัวและเรียงตามลำดับในพระคาถา
(๒) ปฏิรูปเทสวาโส จ ปุพฺเพ จ กตปุญฺญตา
อตฺตสมฺมาปณิธิ จ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ
ความอยู่ประเทศซึ่ง เหมาะและควรจะสุขี
อีกบุญญะการที่ ณ อดีตะมาดล
อีกหมั่นประพฤติควร ณ สภาวะแห่งตน
ข้อนี้แหละมงคล อดิเรกอุดมดี

หากนักเรียนลองอ่านพระคาถาภาษาบาลีประกอบไปด้วย คงสังเกตเห็นว่า ในส่วนท้ายของทุกคาถาจะลงจบด้วยข้อความว่า เอตฺมงฺคลมุตฺตมํ ทั้งหมด เมื่อถอดความเป็นภาษาไทย องค์ผู้ทรงพระราชนิพนธ์ก็จะทรงรักษาข้อความเดียวกันคือ “ข้อนี้แหละมงคล อดิเรกอุดมดี” ไว้เป็นส่วนท้ายของคำประพันธ์ในแต่ละข้อด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม มีหลายตอนในมงคลสูตรคำฉันท์ที่ไม่ใช่การถอดความตรง แต่มีการอธิบายขยายความมงคลบางประการเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจความหมายได้แจ่มชัด และปฏิบัติตามได้ง่ายขึ้น เช่น ในพระคาถาที่ ๗ กล่าวถึงมงคลข้อที่ ๒๒ คือ มีความเคารพ มงคลสูตรคำฉันท์ได้อธิบายให้เข้าใจชัดเจนขึ้นว่าควรมีความเคารพผู้ใด

เคารพ ณ ผู้ควร จะประณตและนอบศีร์
ในมงคลข้อที่ ๒๔ ที่กล่าวถึงความสันโดษ มงคลสูตรคำฉันท์ได้อธิบายความหมายของคำว่าสันโดษไว้อย่างชัดเจนว่า คือ

ยินดี ณ ของตน บ่มิโลภทะยานปอง

นอกจากอธิบายขยายความแล้ว บางครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงแสดงให้เห็นผลประโยชน์ชั้นแรกสุดของการปฏิบัติมงคลบางประการด้วย เช่น มงคลประการที่ ๑ และ ๒ การไม่คบคนพาล และการคบบัณฑิต พระองค์ทรงอธิบายเหตุผลว่า

หนึ่งคือบ่คบพาล เพราะจะพาประพฤติผิด
หนึ่งคบกะบัณฑิต เพราะจะพาประสบผล

มงคลประการที่ ๑๐ กล่าวถึงการกล่าววาจาสุภาษิต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอธิบายไว้ชัดเจนว่าการกล่าวถ้อยคำอันไพเราะเป็นเครื่องช่วยผูกใจคน

อีกคำเพราะบรรสาน ฤดิแห่งประชาชน

แม้มงคลสูตรคำฉันท์จะเป็นคำฉันท์ขนาดสั้น ๆ แต่ก็มีลักษณะเด่นทางวรรณศิลป์ เฉพาะตัวคือเป็นคำฉันท์ทีใช้ถ้อยคำภาษาง่าย ๆ แม้จะมีคำศัพท์ภาษาบาลีและสันสกฤต บ้างแต่ส่วนใหญ่เข้าใจไม่ยากเพราะเป็นคำที่คนไทยรู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างพี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกสรรถ้อยคำง่าย ๆ เหล่านี้นำมาร้อยเรียงกันเข้าอย่างประณีต บรรจง เกิดเป็นบทร้อยกรองที่ให้ทั้งเสียงไพเราะและสื่อความหมายได้อย่างลึกซึ้ง เช่น ในตอนที่เทพบุตรมาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อทูลถามเรื่องมงคล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบรรยายไว้ว่า

ครั้งนั้นแลเทวดา องค์หนึ่งมหา-
นุภาพมหิทธิ์ฤทธี
ล่วงประถมยามราตรี เธอเปล่งรัศมี
อันเรืองระยับจับเนตร
แสงกายเธอปลั่งยังเขต สวนแห่งเจ้าเชต
สว่างกระจ่างทั่วไป
องค์พระภควันต์นั้นไซร้ ประทับแห่งใด
ก็เข้าไปถึงที่นั้น
ครั้นเข้าใกล้แล้วจึงพลัน ถวายอภิวันท์
แต่องค์สมเด็จทศพล
แล้วยืนที่ควรตำกล เสงี่ยมเจียมตน
แสดงเคารพนบศีร์

นักเรียนคงเห็นได้ว่า ข้อความข้างต้นนี้ใช้ถ้อยคำง่าย ๆ บรรยายให้เราเห็นมหิทธานุภาพ ของธรรมะแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงอำนาจยิ่งใหญ่กว่าสิ่งใดในโลกและจักรวาลนี้ แม้เทวดาผู้ทรงฤทธิ์แรงกล้าถึงขั้นรัศมีอันงามนั้นสามารถทำให้พระเชตวันวิหารสว่างไสวโดยรอบ ก็ยังเข้ามา “ถวายอภิวันท์” แต่พระพุทธองค์อย่าง “เสงี่ยมเจียมตน” เพื่อทูลขอให้พระองค์ทรงเทศนาธรรมเรื่องมงคลอันจะยังความสวัสดีแก่ทั้งเทพและมนุษย์ทุกสถาน

มงคลสูตรคำฉันท์นนับเป็นผลงานพระราชนิพนธ์อีกเรื่องหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงคุณค่ายิ่ง เพราะพระองค์ทรงสามารถนำหลักธรรมะในภาษาบาลีอันเข้าจีและจดจำได้ยากมานำเสนอได้อย่างแจ่มกระจ่าง มีความไพเราะงดงามทั้งด้านเสียงและความหมาย เป็นที่จดจำกันได้ทั่วไป ยิ่งไปกว่านั้น มงคลสูตรคำฉันท์ยังแสดงให้เราจะเห็นความจริงที่ว่าสิริมงคลจะเกิดแก่ผู้ใด ก็เป็นผลมาจากการประพฤติ ปฏิบัติตนของบุคคลนั้นเองทั้งสิ้น ไม่มีผู้ใดหรือสิ่งใดจะยังสิริมงคลให้แก่เราได้นอกจากตัวเราเอง



มงคลสูตรคำฉันท์

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมา สมฺพุทฺธสฺสฯ

ต้นมงคลสูตร

(๑) ยญฺจ ทฺวาทส วสฺสสานิ จินฺตยิ๐สุ สเทวกา
สิบสองฉนำเหล่า นรอีกสุเทวา
รวมกันและตริหา สิริมังคลาใด
(๒) จิรสฺสํ จินฺตยนฺตาปิ เนว ชานิ๐สุ มงคลคลํ
จกฺกวาฬสหสฺเสสุ ทสสุ เยน ตตฺตกํ
กาลํ โกลาหลํ ชาตํ ยาว พฺรหฺมนิเวสนา
เทวามนุษย์ทั่ว พหุภพประเทศใน
หมื่นจักรวาลได้ ดำริสิ้นจิรังกาล
แล้วยังบ่รู้มง- คละสมมโนมาลย์
ด้วยกาละล่วงนาน บ่มิได้ประสงค์สม
ได้เกิดซึ่งโกลา หละยิ่งมโหดม
ก้องถึงณชั้นพรหม ธสถิตสะเทือนไป
(๓) ยํ โลกนาโถ เทเสสิ
องค์โลกนาถเทศน์ วรมังคลาใด
(๔) สพฺพปาปวินาสนํ
ยังปาปะปวงให้ ทุษะเสื่อมวินาศมล
(๕) ยํ สุตฺวา สพฺพทุกฺเขหิ มุจฺจนฺตาสงฺขิยา นรา
ชนหลายบพึงนับ ผิดสดับสุมงคล
ใดแล้วและรอดพ้น พหุทุกขะยายี
(๖) เอวมาทิคุณูเปตํ มงฺคลนฺตมฺภณาม เส.ฯ
เราควรจะกล่าวมง- คละอันประเสริฐที่
กอบด้วยคุณามี วรอัตถะเฉิดเฉลาฯ




มงคลสูตร

(๑) เอวมฺเม สุตํ
องค์พระอานนท์ท่านเล่า ว่าข้าพเจ้า
ได้ฟังมาแล้วดังนี้

(๒) เอกํ สมยํ ภควา
สมัยหนึ่งพระผู้มี พระภาคชินสีห์
ผู้โลกนาถจอมธรรม์

(๓) สาวตฺถิยํ วิหรติ เชตวเน อนาถปิณฺฑิกสฺส อาราเม.
ประทับ ณ เชตะวัน วิหาระอัน
อนาถบัณฑิกไซร้
จัดสร้างอย่างดีที่ใน สาวัตถีให้
เป็นที่สถิตสุขา

(๔) อถ โข อญฺญตุรา เทวดา
ครั้งนั้นแลเทวดา องค์หนึ่งมหา-
นุภาพมหิทธิ์ฤทธี

(๕) อภิกฺกนฺตาย รตฺติยา อภกฺกนฺตวณฺณา
ล่วงประถมยามราตรี เธอเปล่งรัศมี
อันเรืองระยับจับเนต

(๖) เกสลกปฺปํ เชตวนํ โอภาเสตฺวา
แสงกายเธอปลั่งยังเขต สวนแห่งเจ้าเชต
สว่างกระจ่างทั่วไป

(๗) เยน ภควา เตนุปสงฺกมิ
องค์พระคววันต์นั้นไซร้ ประทับแห่งใด
ก็เข้าไปถึงที่นั้น

(๘) อุปสงฺกมิตฺวา ภควนฺตํ อภิวาเทตฺวา
ครั้นเข้าใกล้แล้วจึงพลัน ถวายอภิวันท์
แต่องค์สมเด็จทศพล

(๙) เอกมนฺตํ อฏฺฐาสิ.
แล้วยืนที่ควรดำกล เสงี่ยมเจียมตน
แสดงเคารพนบศีร์

(๑๐) เอกมนฺตํ ฐิตาโข สา เทวตา
เมื่อเทวดายีนดี สมควร ณ ที่
ช้างหนึ่งดังกล่าวแล้วนั้น

(๑๑) ภควนฺตํ คาถาย อชุฌภาสิ ฯ
จึงได้ทูลถามภควันต์ ด้วยถ้อยประพันธ์
เป็นพระคาถาบรรจงฯ
พหู เทวา มนุสฺสา จ มงฺคลานิ อจินฺตยุ๐
อากงฺขมานา โสตฺถานํ พฺรูหิ มงฺคลมุตฺตมํ ฯ
เทพอีกมนุษย์หวัง คติโสตถิจำนง
โปรดเทศนามง- คละเอกอุดมดี ฯ
(ฝ่ายองค์สมเด็จพระชินสีห์ ตรัสตอบวาที
ด้วยพระคาถาไพจิตร)

(๑) อเสวนา จ พาลานํ ปณฺทิตานญฺจ เสวนา
ปูชา จ ปูชะนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ
หนึ่งคือบ่คบพาล เพราะจะพาประพฤตผิด
หนึ่งคบกะบัณฑิต เพราะจะพาประสบผล
หนึ่งกราบและบูชา อภิบูชนีย์ชน
ข้อนี้แหละมงคล อดิเรกอุดมดี

(๒) ปฎิรูปเทสวาโส จ ปุพฺเพ จ กตปุญฺญตา
อตฺตสมฺมาปณิธิ จ เอตมฺมง์คลมุตฺตมํ
ความอยู่ประเทศซึ่ง เหมาะและควรจะสุขี
อีกบุญญะการที่ ณ อดีตะมาดล
อีกหมั่นประพฤติควร ณ สภาวะแห่งตน
ข้อนี้แหละมงคล อดิเรกอุดมดี

(๓) พาหุสจฺจญฺ สิปฺปญฺจ วินโย จ สุสิกฺขิโต
สุภาสิตา จ ยา วาจา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ
ความได้สดับมาก และกำหนดสุวาที
อีกศิลปะศาสตร์มี จะประกอบมนุญการ
อีกหนึ่งวินัยอัน นรเรียนและเชี่ยวชาญ
อีกคำเพราะบรรสาน ฤดิแห่งประชาชน
ทั้งสี่ประการล้วน จะประสิทธิ์มนุญผล
ข้อนี้แหละมงคล อดิเรกอุดมดี

(๔) มาตาปิตุอุปฎานํ ปุต์ตทารส์ส สงฺคโห
อนากุลา จ กมฺมนฺตา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ
บำรุงบิดามา- ตุระด้วยหทัยปรีย์
หากลูกและเมียมี ก็ถนอมประหนึ่งตน
การงานกระทำไป บ่มิยุ่งและสับสน
ข้อนี้แหละมงคล อดิเรกอุดมดี

(๕) ทานญฺจ ธมฺมจริยา จ ญาตกานญฺจ สงฺคโห
อนวชฺชานิ กมฺมามิ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ
ให้ทาน ณ กาลควร และประพฤติสุธรรมศรี
อีกสงเคราะห์ญาติที่ ปฏิบัติบำเรอตน
กอบกรรมะอันไร้ ทุษะกลั้วและมัวมล
ข้อนี้แหละมงคล อดิเรกอุดมดี

(๖) อารตี วิรตี ปาปา มชฺชปานา จ สญฺญโม
อปฺปมาโท จ ธมฺเมสุ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ
ความงดประพฤติบาป อกุศลบ่ให้มี
สำรวมวรินทรีย์ และสุราบ่เมามล
ความไม่ประมาทใน พหุธรรมะโกศล
ข้อนี้แหละมงคล อดิเรกอุดมดี

(๗) คารโว จ นิวาโต จ สนฺตุฎฐิ จ กตญฺญุตา
กาเลน ธมฺมสฺสวนํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ
เคารพ ณ ผู้ควร จะประณตและนอบศีร์
อีกหนึ่งมิได้มี จะกระด้างและจองหอง
ยินดี ณ ของตน บ่มิโลภทะยานปอง
อีกรู้คุณาของ นรผู้ประคองตน
ฟังธรรมะโดยกา- ละเจริญคุณานนท์
ข้อนี้แหละมงคล อดิเรกอุดมดี

(๘) ขนฺตี จ โสวจสฺสตา สมณานญฺจ ทสฺสนํ
กาเลน ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ
มีจิตตะอดทน และสถิต ณ ขันตี
อีกหนึ่งบ่พึงมี ฤดิดื้อทะนงหาญ
หนึ่งเห็นคณาเลิศ สมณาวราจารย์
กล่าวธรรมะโดยกาล วรกิจจะโกศล
ทั้งสี่ประการล้วน จะประสิทธิ์มนุญผล
ข้อนี้แหละมงคล อดิเรกอุดมดี

(๙) ตโป จ พฺรหฺมจริยญฺ จ อริยสจฺจานทสฺสมํ
นิพฺพานสจฺฉิกิริยา จ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ
เพียรเผากิเลสล้าง มละโทษะยายี
อีกหนึ่งประพฤติดี ดุจะพรหมพิสุทธิ์สรรพ์
เห็นจ้าง ณ สี่องค์ พระอรียสัจอัน
อาจนำมนุษย์ผัน ติระข้ามทะเลวน
อีกทำพระนิพพา- นะประจักษ์แก่ตน
ข้อนี้แหละมงคล อดิเรกอุดมดี

(๑๐) ผุฎฐฺสฺสโลกธมฺเมหิ จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปติ
อโสกํ วิรชํ เขมํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ
จิตใครผิได้ต้อง วรโลกะธรรมศรี
แล้วย่อมบ่พึงมี จะประหวั่นฤกังวล
ไร้โศกธุลีสูญ และสบายบ่มัวมล
ข้อนี้แหละมงคล อดิเรกอุดมดี

(๑๑) เอตาทิสานิ กตฺวาน สพฺพตฺถมปราชิตา
สพฺพตฺถ โสตฺถิ๐ คจฺฉนฺติ ตนฺเตสํ มงฺคลมุตฺตมนุติ
เทวามนุษย์ทำ วรมงคลาฉะนี้
เป็นผู้ประเสริฐที่ บ่มิแพ้ ณ แห่งหน
ย่อมถึงสวัสดี สิริทุกประการดล
ข้อนี้แหละมงคล อดิเรกอุดมดี